ความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรการนอนหลับและบทบาทของทริปโตเฟน เซโรโทนิน และเมลาโทนินในการนอนหลับ:
วงจรการนอนหลับและผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ:
การนอนหลับเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ประกอบด้วยหลายขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยรวม วงจรการนอนหลับทั่วไปมีระยะเวลาประมาณ 90 ถึง 120 นาที และเกิดขึ้นซ้ำๆกันหลายครั้งตลอดทั้งคืน วงจรเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองประเภทวงจรหลักได้ดังนี้: 1) การนอนหลับที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างรวดเร็ว (Non-Rapid Eye Movement) หรือ NREM Stage และ 2) การนอนหลับที่มีการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างรวดเร็ว (Rapid Eye Movement) หรือ REM Stage
1. การนอนหลับแบบ NREM:
ระยะที่ 1: เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างการตื่นและการนอนหลับ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ในระยะนี้ การนอนหลับจะเบา กิจกรรมของกล้ามเนื้อดวงตาลดลง ดวงตาเคลื่อนไหวช้าใต้เปลือกตา
ระยะที่ 2: ในระยะนี้ การเคลื่อนไหวของดวงตาหยุดลง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และอุณหภูมิร่างกายลดลงตามด้วย ซึ่งระยะนี้คิดเป็นประมาณ 45% ของระยะเวลาการนอนทั้งหมด และเป็นระยะที่เตรียมร่างกายสำหรับการนอนในระยะหลับลึกต่อไป
ระยะที่ 3: รู้จักกันในชื่อการนอนหลับลึกหรือการนอนหลับคลื่นช้า (Slow-Wave Sleep) ระยะนี้มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะร่างกายจะเริ่มซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในช่วงนี้
2. การนอนหลับแบบ REM:
ระยะนี้มีลักษณะการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างรวดเร็ว เกิดกิจกรรมของสมองเพิ่มขึ้น และเกิดความฝันที่ชัดเจน การนอนหลับแบบ REM มีบทบาทสำคัญในขบวนการการรับรู้ เช่น การรวมความจำ การเรียนรู้ และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งโดยปกติแล้ว REM Stage จะคิดเป็นประมาณ 25% ของระยะเวลาการนอนทั้งหมด
ดังนั้นการผ่านช่วงเวลาการนอนเหล่านี้อย่างราบรื่นซ้ำๆกันหลายครั้งในแต่ละคืนถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการนอนหลับอย่างมีคุณภาพและฟื้นฟูร่างกายที่สมบูรณ์ การถูกรบกวนหรือหยุดชะงักของวงจรการนอนหลับเหล่านี้บ่อยครั้งอาจนำไปสู่ความบกพร่องทางการรับรู้ ความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายที่อาจทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายได้
บทบาทของทริปโตเฟน เซโรโทนิน และ เมลาโทนินในกระบวนการนอนหลับ:
ทริปโตเฟน:
ทริปโตเฟน เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องได้รับจากอาหาร และมีความสำคัญในการสังเคราะห์สารเซโรโทนินและเมลาโทนิน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ
เซโรโทนิน:
เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่อการควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร และการนอนหลับ ในสมอง โดยสารทริปโตเฟนที่นำเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเซโรโทนิน ซึ่งช่วยส่งเสริมการผ่อนคลายและเตรียมร่างกายให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
เมลาโทนิน:
เซโรโทนินจะถูกแปลงเป็นฮอร์โมนเมลาโทนินในต่อมไพเนียล เมลาโทนินมักถูกเรียกว่าสารฮอร์โมนการนอนหลับ เนื่องจากมีบทบาทในการควบคุมวงจรการนอนหลับ-ตื่น โดยส่งสัญญาณให้ร่างกายทราบว่าเมื่อใดควรนอนหลับ ระดับของเมลาโทนินจะเพิ่มขึ้นในตอนเย็นเพื่อกระตุ้นความง่วง และลดลงในตอนเช้าเพื่อช่วยให้ตื่นนอน
ดังนั้น ระดับของทริปโตเฟนที่เพียงพอมีความจำเป็นต่อการผลิตเซโรโทนินและเมลาโทนินที่เหมาะสม ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสารเหล่านี้ในการส่งเสริมรูปแบบการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
1. Sleep Foundation >> https://www.sleepfoundation.org/stages-of-sleep
2. Healthline >> https://www.healthline.com/nutrition/tryptophan
3. Sleep Foundation >> https://www.sleepfoundation.org/nutrition/what-is-tryptophan
4. Sleep Doctor >> https://youtu.be/nwNOMYL8mIc